สมเด็จพระสังฆราชสกลสังฆปรินายกองค์ที่20

สังฆราชองค์ที่ 20

กาลถึง ๑๙ นาฬิกา ๑๔ นาที………..

อาทิตย์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ตรงกับแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ ปีวอก ในแผ่นดินรัชกาลที่ ๑๐

ระฆังวัดพระแก้วถูกย่ำ ๓ ลา ตามด้วยเอื่อยช้าอีก ๒๐ ครั้ง นั่นเป็นศุภสัญญาณว่า

การสถาปนา “สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” องค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บังเกิดขึ้นแล้ว

โดย “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

ให้อาลักษณ์ อ่านประกาศกระแสพระราชโองการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ใจความว่า

“บัดนี้เป็นที่ประจักษ์ว่า สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นผู้เจริญยิ่งด้วยพรรษายุกาล รัตตัญญูมหาสถาวีรธรรม ยินดีในเนกขัมมปฏิบัติ ทั้งคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ เป็นอจลพรหมจริยาภิรัต ดำรงมั่นในไตรสิกขามิได้เสื่อมถอย มีจริยาการสำรวมเรียบร้อย ไม่หวั่นไหวต่อโลกามิส เป็นคุรฐานียบัณฑิต ผู้มีกิตติประวัติอันผ่องแผ้ว สงเคราะห์พุทธบริษัท ปกครองคณะสงฆ์ เป็นอุปัธยาจารย์ของมหาชนมากมาย มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายไพศาล เป็นที่เคารพสักกรานแห่งมวลพุทธศาสนิก บริษัททั่วสังฆมณฑล ตลอดจนประชาราษฎร์ทั่วไป

สมควรจะได้สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานาธิบดีแห่งสังฆมณฑล เพื่อเป็นศรีศุภมงคลแห่งพระบวรพุทธศาสนาสืบไป

จึงมีพระราชโองการโปรดสถาปนา สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช มีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

‘สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกธราจารย อัมพราภิธานสังฆวิสุต ปาพจนุตตมสาสนโสภณ กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทร ชินวรมหามุนีวงศานุศิษฏ บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช’

เสด็จสถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพฯ เป็นประธานในสังฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร

ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในสังฆมณฑลทั่วไป โดยสมควรแก่พระอิสริยยศซึ่งพระราชทานนี้

ทรงเจริญพระชนมายุ วรรณะ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฏฐิติวิรุฬหิไพบูลย์ในพระพุทธศาสนา เทอญ.”

เป็นอันว่า…….

แผ่นดินไทยสมบูรณ์พร้อม ด้วยองค์แห่งพระประมุขทั้งราชอาณาจักรและพุทธจักร

นานแล้ว ที่ไม่เห็นพุทธบริษัทสมานจิต ปีติโสมนัสดังเช่นวันนี้ และต่างเฝ้ารอถวายมุทิตาสักการะแด่ “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” กันเนืองแน่น ทั้งที่วัดพระแก้วและที่วัดราชบพิธฯ

การขึ้นเป็นสกลมหาสังฆปริณายกนั้น นอกจาก บุญถึง-บารมีถึงแล้ว ที่สำคัญสุด

“ธรรม” ต้องถึงด้วย!

ปรากฏในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ “ธัมมัญญูสูตร” สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ว่า……

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

ธรรม ๗ ประการเป็นไฉน…….

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็น ธัมมัญญู รู้จักธรรม ๑, อัตถัญญู รู้จักอรรถ ๑, อัตตัญญู รู้จักตน ๑, มัตตัญญู รู้จักประมาณ ๑, กาลัญญู รู้จักกาล ๑, ปริสัญญู รู้จักบริษัท ๑, ปุคคลปโรปรัญญู รู้จักเลือกคบคน ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ………

ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ”

การที่ “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร)” ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระสังฆราช” องค์ที่ ๒๐ องค์ประกอบหนึ่ง

ก็เพราะ สมบูรณ์พร้อมด้วย “สัปปุริสธรรม ๗ ประการ” นี้ด้วย

เรา…ชาวบ้าน เห็นหัวข้อธรรมก็ยากเข้าใจ เพื่อเข้าใจทั้งธรรม-ทั้งอรรถ

ผมจะยกจาก “พจนานุกรมพุทธศาสตร์” ฉบับประมวลธรรม ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) มาให้โยนิโสกัน

๑.ธัมมัญญุตา ความรู้จักธรรม รู้หลัก หรือ รู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล

เช่น ภิกษุรู้ว่า หลักธรรมข้อนั้นๆ คืออะไร มีอะไรบ้าง

พระมหากษัตริย์ทรงทราบว่า หลักการปกครองตามราชประเพณีเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง

รู้ว่า จะต้องกระทำเหตุอันนี้ๆ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้ๆ จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการอันนั้นๆ เป็นต้น

๒.อัตถัญญุตา ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือ รู้จักผล คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำหรือความเป็นไปตามหลัก

เช่น รู้ว่าหลักธรรมหรือภาษิตข้อนั้นๆ มีความหมายอย่างไร หลักนั้นๆ มีความมุ่งหมายอย่างไร กำหนดไว้หรือพึงปฏิบัติเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร การที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้างดังนี้ เป็นต้น

๓.อัตตัญญุตา ความรู้จักตน คือ รู้ว่า เรานั้น ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลังความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น บัดนี้ เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป

๔.มัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณ คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่

คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์

พระมหากษัตริย์ รู้จักประมาณในการลงทัณฑอาชญาและในการเก็บภาษี เป็นต้น

๕.กาลัญญุตา ความรู้จักกาล คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจ กระทำหน้าที่การงาน

เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น

๖.ปริสัญญุตา ความรู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า

ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น

๗.ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา ความรู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น

ใครๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่ จะใช้ จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น

และในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ยังบอกไว้ด้วยว่า……

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ข้อนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสังฆคุณ ครบ ๙

แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระเจ้าจักรพรรดิ ก็ทรงประกอบด้วยธรรมเหล่านี้”

จะเห็นว่า ไม่ง่ายเลย มิใช่สักแต่ว่าสมณศักดิ์ถึง อายุพรรษาถึง อาวุโสถึง สมเด็จพระราชาคณะรูปนั้นๆ ก็จะได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช

“ถึง” แค่นั้น ยังไม่นับว่า “ถึง”

ต้องธรรม ๗ ประการ “ถึง” นั่นแหละ ความถึงพร้อมแห่ง บุญ-วาสนา-บารมี “โดยธรรม” จึงจะผลิบาน

ความหอมในศีล ในพระธรรมวินัย จะส่งกลิ่นขจรขจาย จนทั้ง ๓ โลกต่างต้องอภิวันท์ บนสถานะ “สกลมหาสังฆปริณายก”

ทีนี้มีอยู่คำ ที่บอกว่า “ภิกษุผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ข้อนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสังฆคุณครบ ๙”

“สังฆคุณ ๙” นั่น คืออะไรบ้าง?

ไหนๆ ก็ไหนๆ เราได้อริยสงฆ์เป็นสังฆราชาแล้ว ก็ควรรู้กันให้แจ่มแจ้ง

สังฆคุณ ๙ ก็อย่างในบทสวดอิติปิโส ท่อนสังฆคุณ นั่นแหละ!

เราสวด-ท่องกันบ่อย แต่ไม่รู้ความหมาย ทีนี้รู้แล้วนะ “สังฆคุณ ๙” คือ

๑.สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดี

๒.อุชุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง

๓.ญายปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติถูกทาง

๔.สามีจิปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติสมควร

๕.อาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ คือควรรับของที่เขานำมาถวาย

๖.ปาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ

๗.ทกฺขิเณยฺโย เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา คือควรแก่ของทำบุญ

๘.อญฺชลีกรณีโย เป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลี คือควรแก่การกราบไหว้

๙.อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก คือเป็นแหล่งเพาะปลูกและเผยแพร่ความดีที่ยอดเยี่ยมของโลก

เอาล่ะ…เมื่อทราบ “ทางธรรม” แล้ว รู้หน้าที่ตามตำแหน่งพระสังฆราชในทางปกครองคณะสงฆ์บ้าง

ประธานคณะกรรมการมหาเถรสมาคม ต่อจากนี้ จะเป็น “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร)

คือ ทั้งหมด ดังนี้………..

๑.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

๒.สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ

๓.สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดสัมพันธวงศาราม

๔.สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร

๕.สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดเทพศิรินทราวาส

๖.สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดพิชยญาติการาม

๗.สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดไตรมิตรวิทยาราม

๘.สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดญาณเวศกวัน

๙.พระพรหมวชิรญาณ วัดยานนาวา

๑๐.พระพรหมเมธาจารย์ วัดบุรณศิริมาตยาราม

๑๑.พระวิสุทธิวงศาจารย์ วัดปากน้ำ

๑๒.พระพรหมเมธี วัดสัมพันธวงศาราม

๑๓.พระพรหมมุนี วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

๑๔.พระพรหมดิลก วัดสามพระยา

๑๕.พระพรหมบัณฑิต วัดประยุรวงศาวาส

๑๖.พระพรหมวิสุทธาจารย์ วัดเครือวัลย์

๑๗.พระธรรมธัชมุนี วัดปทุมวนาราม

๑๘.พระธรรมบัณฑิต วัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก

๒๐.พระพรหมสิทธิ วัดสระเกศ

ด้วยธรรมในองค์พระประมุขแห่งราชอาณาจักรและพุทธจักรอันถึงแล้ว สมบูรณ์ดีแล้ว

ความจำเริญ รุ่งเรือง จักบังเกิดแก่ “แผ่นดินไทย-แผ่นดินทอง” นิรันดร์.